วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ปัญญาประดิษฐ์

อ่านคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ 

 วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี 

ปัญญาประดิษฐ์(AI)

ปัญญาประดิษฐ์ คืออะไร (AI : Artificial Intelligence)

ปัญญาประดิษฐ์ ในภาษอังกฤษเรียกว่า Artificial Intelligence มีคำย่อว่า AI เป็นความฉลาด ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งรวบรวมหลายๆสิ่งไว้ในสิ่งนั้น เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้สามารถคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ อาทิเช่น ระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ, ช่วยผู้อัจฉริยะในสมาร์ทโฟน
แนวคิดเรื่องเครื่องจักรที่คิดได้และสิ่งมีชีวิตเทียมนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เช่นหุ่นยนต์ทาลอสแห่งครีต อันเป็นหุ่นยนต์ทองแดงของเทพฮิฟีสตัส แหล่งอารยธรรมใหญ่ๆของโลกมักจะเชื่อเรื่องหุ่นยนต์ที่มีความคล้ายกับมนุษย์ เช่น ในอียิปต์และกรีซ ต่อมา ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และ 20 สิ่งมีชีวิตเทียมเริ่มปรากฏอย่างแพร่หลายในนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น แฟรงเกนสไตน์ของแมรี เชลลีย์ หรือ R.U.R.ของกาเรล ชาเปก แนวคิดเหล่านี้ผ่านการอภิปรายมาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแง่ของความหวัง ความกลัว หรือความกังวลด้านศีลธรรมเนื่องจากการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์

กลไกหรือการให้เหตุผลอย่างมีแบบแผน ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ การศึกษาด้านตรรกศาสตร์นำไปสู่การคิดค้นเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ดิจิตอลที่โปรแกรมได้โดยอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์ของแอลัน ทัวริงและคนอื่นๆ ทฤษฎีการคำนวณของทัวริงชี้ว่า เครื่องจักรที่รู้จักการสลับตัวเลขระหว่าง 0 กับ 1 สามารถเข้าใจนิรนัยทางคณิตศาสตร์ได้ หลังจากนั้น การค้นพบทางด้านประสาทวิทยา ทฤษฎีสารสนเทศ และไซเบอร์เนติกส์ รวมทั้งทฤษฎีการคำนวณของทัวริง ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเริ่มสนใจพิจารณาความเป็นไปได้ของการสร้าง สมองอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาอย่างจริงจัง
สาขาปัญญาประดิษฐ์นั้นเริ่มก่อตั้งขึ้นในที่ประชุมวิชาการที่วิทยาลัยดาร์ตมัธ สหรัฐอเมริกาในช่วงหน้าร้อน ค.ศ. 1956[2]โดยผู้ร่วมในการประชุมครั้งนั้น ได้แก่ จอห์น แม็กคาร์ธีย์ มาร์วิน มินสกี อัลเลน นิวเวลล์ อาเธอร์ ซามูเอล และเฮอร์เบิร์ต ไซมอน ที่ได้กลายมาเป็นผู้นำทางสาขาปัญญาประดิษฐ์ในอีกหลายสิบปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาของพวกเขาเหล่านี้เขียนโปรแกรมที่หลายคนทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ที่สามารถเอาชนะคนเล่นหมากรุก แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคำด้วยพีชคณิต พิสูจน์ทฤษฎีทางตรรกวิทยา หรือแม้กระทั่งพูดภาษาอังกฤษได้ ผู้ก่อตั้งสาขาปัญญาประดิษฐ์กลุ่มนี้เชื่อมั่นในอนาคตของเทคโนโลยีใหม่นี้มาก โดยเฮอร์เบิร์ต ไซมอนคาดว่าจะมีเครื่องจักรที่สามารถทำงานทุกอย่างได้เหมือนมนุษย์ภายใน 20 ปีข้างหน้า และมาร์วิน มินสกีก็เห็นพ้องโดยการเขียนว่า “เพียงชั่วอายุคน ปัญหาของการสร้างความฉลาดเทียมจะถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กลับไม่ได้พิจารณาถึงความยากของปัญหาที่จะพบมากนัก ในปี ค.ศ. 1974 เซอร์ เจมส์ ไลท์ฮิลล์ ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์สาขาปัญญาประดิษฐ์ ประกอบกับมีแรงกดดันจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯให้ไปให้เงินสนับสนุนโครงการมีผลผลิตออกมาเป็นรูปธรรมมากกว่า ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจึงได้ตัดงิบประมาณการวิจัยที่ไร้ทิศทางของสาขาปัญญาประดิษฐไป จนเป็นยุคที่เรียกว่า หน้าหนาวของปัญญาประดิษฐ์ (AI winter) กินเวลาหลายปี ซึ่งโครงการด้านปัญญาประดิษฐ์แต่ละโครงการนั้นหาเงินทุนสนับสนุนยากมาก
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ด้วยระบบที่ชื่อว่า ระบบผู้เชี่ยวชาญ อันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการหาคำตอบ อธิบายความไม่ชัดเจน ซึ่งปกตินั้นจะใช้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาตอบคำถามนั้น ในปี ค.ศ. 1985 ตลาดของปัญญาประดิษฐ์ทะยานขึ้นไปแตะระดับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน โครงการคอมพิวเตอร์รุ่นที่ 5 ของญี่ปุ่นก็ได้จุดประกายให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรหันมาให้เงินทุนสนับสนุนงานวิจัยในสาขาปัญญาประดิษฐ์อีกครั้ง
ในทศวรรษ 1990 และช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ปัญญาประดิษฐ์ประสบความสำเร็จอย่างสูงแม้ว่าจะมีหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลัง มีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในด้านการขนส่ง การทำเหมืองข้อมูล การวินิจฉัยทางการแพทย์ และในอีกหลายสาขาหลายอุตสาหกรรม ความสำเร็จของปัญญาประดิษฐ์นั้นได้รับการผลักดันมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเรื่องของความเร็วของคอมพิวเตอร์ที่มีการประมวลผลที่เร็วขึ้น (ตามกฎของมัวร์) การให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาย่อยบางปัญหา การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับสาขาอื่นๆที่ทำงานอยู่กับปัญญาที่คล้ายๆกัน ตลอดจนความมุ่งมั่นของนักวิจัยที่ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีหลักการ
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 เครื่องดีปบลูของบริษัทไอบีเอ็ม กลายมาเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่สามารถเล่นหมากรุกเอาชนะ แกรี คาสปารอฟ แชมป์โลกในขณะนั้นได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 เครื่องวัตสันของบริษัทไอบีเอ็มก็สามารถเอาชนะแชมป์รายการตอบคำถามจีโอพาร์ดีได้แบบขาดลอย นอกจากนี้ เครื่องเล่นเกมอย่าง Kinect ก็ใช้เทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการสร้างส่วนติดต่อกับผู้ใช้ผ่านทางการเคลื่อนไหวร่างกายใน 3 มิติเช่นกัน

นิยามของปัญญาประดิษฐ์

มีคำนิยามของปัญญาประดิษฐ์มากมายหลากหลาย ซึ่งสามารถจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทโดยมองใน 2 มิติ ได้แก่
  • ระหว่าง นิยามที่เน้นระบบที่เลียนแบบมนุษย์ กับ นิยามที่เน้นระบบที่ระบบที่มีเหตุผล (แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนมนุษย์)
  • ระหว่าง นิยามที่เน้นความคิดเป็นหลัก กับ นิยามที่เน้นการกระทำเป็นหลัก
ปัจจุบันงานวิจัยหลักๆ ของ AI จะมีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลัก เนื่องจากการนำ AI ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องอาศัยอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์ อย่างไรก็ตามนิยามทั้ง 4 ไม่ได้ต่างกันโดยสมบูรณ์ นิยามทั้ง 4 ต่างก็มีส่วนร่วมที่คาบเกี่ยวกันอยู่
นิยามดังกล่าวคือ
  1. ระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ (Systems that think like humans)
    1. ปัญญาประดิษฐ์ คือ ความพยายามใหม่อันน่าตื่นเต้นที่จะทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้ซึ่งเครื่องจักรที่มีสติปัญญาอย่างครบถ้วนและแท้จริง (“The exciting new effort to make computers think … machines with minds, in the full and literal sense.” [Haugeland, 1985])
    2. ปัญญาประดิษฐ์ คือ กลไกของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดมนุษย์ เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ (“[The automation of] activities that we associate with human thinking, activities such as decision-making, problem solving, learning.” [Bellman, 1978])
    • หมายเหตุ ก่อนที่จะทำให้เครื่องคิดอย่างมนุษย์ได้ ต้องรู้ก่อนว่ามนุษย์มีกระบวนการคิดอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ลักษณะการคิดของมนุษย์ เป็นศาสตร์ด้าน cognitive science เช่น ศึกษาการเรียงตัวของเซลล์สมองในสามมิติ ศึกษาการถ่ายเทประจุไฟฟ้า และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเคมีไฟฟ้าในร่างกาย ระหว่างการคิด ซึ่งจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2548) เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า มนุษย์เรา คิดได้อย่างไร
  2. ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ (Systems that act like humans)
    1. ปัญญาประดิษฐ์ คือ วิชาของการสร้างเครื่องจักรที่ทำงานในสิ่งซึ่งอาศัยปัญญาเมื่อกระทำโดยมนุษย์ (“The art of creating machines that perform functions that requires intelligence when performed by people.” [Kurzweil, 1990])
    2. ปัญญาประดิษฐ์ คือ การศึกษาวิธีทำให้คอมพิวเตอร์กระทำในสิ่งที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าในขณะนั้น (“The study of how to make computers do things at which, at the moment, people are better.” [Rich and Knight, 1991])
    • หมายเหตุ การกระทำเหมือนมนุษย์ เช่น
      • สื่อสารได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างคือ การแปลงข้อความเป็นคำพูด และ การแปลงคำพูดเป็นข้อความ
      • มีประสาทรับสัมผัสคล้ายมนุษย์ เช่น คอมพิวเตอร์รับภาพได้โดยอุปกรณ์รับสัมผัส แล้วนำภาพไปประมวลผล
      • เคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยงานต่าง ๆ อย่างการ ดูดฝุ่น เคลื่อนย้ายสิ่งของ
      • เรียนรู้ได้ โดยสามารถตรวจจับรูปแบบการเกิดของเหตุการณ์ใด ๆ แล้วปรับตัวสู่สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้
  3. ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล (Systems that think rationally)
    1. ปัญญาประดิษฐ์ คือ การศึกษาความสามารถในด้านสติปัญญาโดยการใช้โมเดลการคำนวณ (“The study of mental faculties through the use of computational model.” [Charniak and McDermott, 1985])
    2. ปัญญาประดิษฐ์ คือ การศึกษาวิธีการคำนวณที่สามารถรับรู้ ใช้เหตุผล และกระทำ (“The study of the computations that make it possible to perceive, reason, and act” [Winston, 1992])
    • หมายเหตุ คิดอย่างมีเหตุผล หรือคิดถูกต้อง เช่น ใช้หลักตรรกศาสตร์ในการคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผล เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ
  4. ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล (Systems that act rationally)
    1. ปัญญาประดิษฐ์คือการศึกษาเพื่อออกแบบเอเจนต์ที่มีปัญญา (“Computational Intelligence is the study of the design of intelligent agents” [Poole et al., 1998])
    2. ปัญญาประดิษฐ์ เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่แสดงปัญญาในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (“AI … is concerned with intelligent behavior in artifacts” [Nilsson, 1998])
    • หมายเหตุ กระทำอย่างมีเหตุผล เช่น เอเจนต์ (โปรแกรมที่มีความสามารถในการกระทำ หรือเป็นตัวแทนในระบบอัตโนมัติต่าง ๆ) สามารถกระทำอย่างมีเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เช่น เอเจนต์ในระบบขับรถอัตโนมัติ ที่มีเป้าหมายว่าต้องไปถึงเป้าหมายในระยะทางที่สั้นที่สุด ต้องเลือกเส้นทางที่ไปยังเป้าหมายที่สั้นที่สุดที่เป็นไปได้ จึงจะเรียกได้ว่า เอเจนต์กระทำอย่างมีเหตุผล อีกตัวอย่างเช่น เอเจนต์ในเกมหมากรุก ที่มีเป้าหมายว่าต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ ก็ต้องเลือกเดินหมากที่จะทำให้คู่ต่อสู้แพ้ให้ได้ เป็นต้น
ปัจจุบัน ยังไม่มีทฤษฎีหรือกระบวนทัศน์ใดๆที่เป็นแนวทางที่ชัดเจนให้กับการวิจัยทางปัญญาประดิษฐ์ นักวิจัยบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง ปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบก็ยังมีอยู่มากมาย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ควรจะมีพฤติกรรมคล้ายกับของจริงในธรรมชาติในทางจิตวิทยาหรือประสาทวิทยาหรือไม่ หรือ ชีววิทยาของร่างกายมนุษย์นั้นไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับปัญญาประดิษฐ์แบบที่นกไม่ได้สัมพันธ์ใดๆกับอากาศยานหรือไม่ หรือ พฤติกรรมที่ฉลาดสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการที่ง่ายๆธรรมดาๆเช่นในทางตรรกะได้หรือไม่ หรือ เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแก้ปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องให้ครบ หรือ ความฉลาดสามารถถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้สัญลักษณ์ขั้นสูงอย่างคำหรือแนวความคิดได้หรือไม่และจำเป็นจะต้องมีการประมวลผลสัญลักษณ์ที่ย่อยไปกว่านั้นหรือไม่

เรื่องที่ปัญญาประดิษฐ์จะคิดเองได้นั้นไม่แปลกอะไร Chat bot นั้นมันเรียนรู้ได้เองจากการที่มีคนไปพูดโต้ตอบกับมัน อย่าง Siri ที่คนไทยชอบใช้ก็พูดจาหยาบคายมากและด่าแสบๆ กวนๆ หากไปสอนภาษาแปลกๆ ที่เราคิดกันขึ้นมาเอง แต่ถึงคนที่เข้าไปใช้และสอนมันเหมือนๆ กัน Chat bot ที่สร้างจาก AI เหล่านี้ก็คงเรียนรู้และคิดภาษาใหม่ๆ ให้เข้าใจกันเองได้ไม่ยาก ยิ่งมีการเรียนรู้แบบเสริมแรง (Reinforcement learning) มาใช้ในปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นยิ่งมีโอกาส Tay เป็น Chat bot ที่ Microsoft สร้างขึ้นพอ launch ออกมาไม่นานมันก็พูดจาหยาบคาย เหยียดผิว เหยียดเพศ เพราะอเมริกันชนไปสอนให้มันพูดเช่นนั้น มันก็เรียนรู้ทัศนคติแบบนั้นมาด้วย ในขณะที่ Rinna ซึ่งเป็น Chat bot ของญี่ปุ่นถูกสอนให้คิกขุอาโนเนะแนวโอตากุ แบบคนญี่ปุ่นทำให้ Rinna พูดจาอ่อนหวาน
       
       จากเดิมที่มนุษย์เป็นคนสอน AI ตอนนี้ AI ก็สอนก็เรียนรู้กันเองได้ และในอนาคต AI อาจจะเก่งถึงขั้นมีจินตนาการและมีความรู้สึกนึกคิดได้เหมือนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ
       
       สิ่งที่น่ากลัวสุดคือ ประเทศไทยเราล้าหลัง และไม่มีคนพร้อมพอสำหรับเทคโนโลยี AI เหล่านี้ วิทยาการด้านนี้จะก้าวไปไวมาก เราเองผลิตไม่ได้ก็จะได้แต่นำเข้าและเสียเปรียบอยู่ตลอดไป ส่วน Chat bot หรือ AI นั้นของไทยไม่น่าจะต้องกังวลมาก เพราะภาษาไทยนั้นยากมาก มีไวยากรณ์หลวมๆ ไม่มีการตัดคำที่ชัดเจน ไม่มีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเท่าที่ควร การประมวลผลภาษาธรรมชาติภาษาไทย (Thai Natural Language Processing) ก็ยังไม่ไปถึงไหนเท่าไหร่ ถือว่าเป็นภาษาที่ยากมากสำหรับคอมพิวเตอร์ที่จะเข้าใจภาษาไทย เราคงต้องพัฒนากันไปอีกมาก และคงยังไม่ถึงจุดที่จะต้องกังวลว่า AI จะสร้างภาษาใหม่ขึ้นมาคุยกันเองได้
       
       ที่น่ากลัวที่สุดคือการตกงานจาก AI ต่างหาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ไปสร้างโรงงานผลิตอาหารในจีนใช้ Automation หุ่นยนต์ และ AI มาแทนที่คนงานเป็นร้อยเป็นพัน หรือเมื่อคราว Donald Trump ประกาศว่าจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์จากรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโก ต้องมาผลิตในอเมริกาเท่านั้น ทาง NISSAN ยอมตาม Donald Trump ทันทีแต่เปลี่ยนโมเดลการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ให้ใช้ AI และหุ่นยนต์แทนคนมากที่สุด ทำให้การผลิตรถยนต์แม้จะตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีราคาแพงมากก็ยังทำได้ และควบคุมต้นทุนให้ลดลงได้มาก โดยใช้หุ่นยนต์แทนคนงานและวิศวกรเป็นร้อยเป็นพันคน
       
       สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คนไทยไร้ฝีมือแรงงาน มีความสามารถน้อยกว่า AI จะต้องตกงานอีกมาก ในอนาคตอันใกล้นี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเผชิญ และเป็นประเด็นที่ทั้ง Elon Musk และ Mark Zuckerberg เห็นต้องตรงกันอย่างยิ่ง
 


ความน่าเป็นกังวลในการวิจัย AI

มื่อไม่นานมานี้ มีรายงานว่าบริษัทFacebook ได้ปิดระบบ AI ในศูนย์วิจัยของตัวเอง หลังพบว่ามันเริ่มคิดค้นภาษาใหม่มาสื่อสารกันเองโดยเฉพาะแทนภาษาอังกฤษ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับ AI “Bob” และ “Alice” ซึ่ง FAIR นำมาใช้ทดสอบและฝึกฝน "ทักษะการเจรจาต่อรอง"โดยสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาให้มีของ 3 อย่าง (หนังสือ หมวก ลูกบอล) โดย Bob และ Alice ก็จะให้ค่าของสิ่งของแต่ละอย่างไม่เท่ากัน AI ทั้งสองตัวจะต้องเจรจาต่อรองกันเพื่อให้ตัวเองได้รับสิ่งของที่มีค่ามากที่สุด ซึ่งผลที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์น่าประทับใจเพราะทั้งคู่สามารถต่อรองได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เคยเจรจาต่อรองกับทั้งคู่ไม่รู้ว่าตัวเองคุยอยู่กับ AI แต่ล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้น เมื่อ Bob และ Alice เริ่มสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษแบบแปลกๆ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ กลายเป็นประโยคที่ดูเหมือนไม่มีความหมายใดๆ แต่แท้จริงแล้วประโยคเหล่านี้สามารถถอดรหัสออกมาเป็นการสื่อสารที่มีความหมายได้ซึ่งเข้าใจกันระหว่าง Bob และ Alice เท่านั้น 
ตัวอย่างที่ Bob พูดคือ “i i can i i i everything else,”
Alice ตอบว่า “Balls have zero to me to me to me to me to me to me to me to me to,”
ขณะนี้ดูเหมือนว่าทีมวิจัยของ Facebook ยังไม่สามารถถอดความหมายของภาษานี้ได้สมบูรณ์ 100% แต่พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่ Bob พูด คือ “ฉันจะเอา 3 อัน ส่วนที่เหลือให้เธอหมดเลย”
สาเหตุที่ AI ทั้งสองพัฒนาภาษาของตัวเองขึ้นมาได้ คาดว่ามีสาเหตุมาจากระบบ "รางวัล" ที่ใช้กระตุ้นให้ AI พัฒนาตัวเอง โดยทุกครั้งที่ AI ต่อรองจนได้สิ่งของที่มีค่าสูงสุดระบบก็จะมอบรางวัลให้ ส่งเสริมให้ AI คิดหาวิธีสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให่ได้รางวัลมากที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป AI อาจมองว่า ภาษาอังกฤษที่มีคำศัพท์มากมายนั้นเยิ่นเย้อและมีประสิทธิภาพในการสื่อสารต่ำเกินไป นอกจากนี้มันยังไม่ได้รับรางวัลใดๆ จากการใช้ภาษาอังกฤษ (แม้ว่าจะถูกโปรแกรมให้ใช้แต่ภาษาอังกฤษก็ตาม) มันจึงพัฒนาภาษาของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้การต่อรองมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เหตุการณ์ครั้งนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะการวิจัยทั้งหมดอยู่ในการควบคุมอย่างใกล้ชิด และยังเป็น Open Source ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า AI อาจจะมีการพัฒนาศักยภาพได้สูงเกินกว่าที่มนุษย์คาดคิด หากปล่อยให้มีการพัฒนาโดยไม่ได้มีการควบคุม ไม่แน่ในอนาคตมันอาจจะตัดขาดจากมนุษย์และหลุดจากการควบคุมของเราในที่สุด 

 รื่องนี้บอกอะไรกับเรา

บอกถึงสติปัญญาของมนุษย์ที่สามารถคิดค้นปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาได้ และสามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความก้าวหน้า เกิดการอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ และสามารถนำมาใช้ศึกษาต่อในรุ่นต่อๆไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาให้แปลกใหม่และทันสมัยยิ่งกว่าเดิม

ประโยชน์ที่ได้รับจากเรื่องนี้ ต่อตนเอง หรือส่วนรวม

ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงความสามารถของมนุษย์ และสามารถศึกษาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้
และสามารถให้ประเทศชาติเจริญและทันสมัยมากยิ่งขึ้นจากสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ได้คิดค้นขึ้น



นำสิ่งที่ได้จากการอ่านเรื่องนี้ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรบ้าง

สามารถทำให้เรามีไอเดียที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆเพื่อที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และเราสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ปัญญาประดิษฐ์

อ่านคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ   วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี  ปัญญาประดิษฐ์(AI) ปัญญาประดิษฐ์ คืออะไร (AI : Artificial Intellig...